Data Analytics in Clinical Labs

Data Analytics in Clinical Labs

บทบาทการวิเคราะห์ข้อมูลกับห้องแล็บทางการแพทย์

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาชีพนักวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามามีบทบาทแทบทุกวงการ แต่ก็จะเป็นเชิงธุรกิจเสียส่วนใหญ่ สำหรับส่วนงานทางการแพทย์นั้นเราอาจจะยังไม่ค่อยเห็นชัดเจนเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บทางการแพทย์ หน้าที่ของการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นมักจะตกอยู่กับหัวหน้าห้องปฏิบัติการหรือเจ้าหน้าที่อาวุโสแทนที่จะเป็นหน้าที่เฉพาะเหมือนกับวงการอื่น ๆ

ในฐานะคนที่เคยทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ในแวดวงห้องแล็บทางการแพทย์ หน้าที่อันหนึ่งคือการสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับทางห้องแล็บเพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยหรือผู้ที่มารับบริการ จึงอยากแบ่งปันให้ผู้อ่านได้เห็นว่าการวิเคราะห์ข้อมูลมีความสำคัญต่อการดำเนินงานและประสิทธิภาพของห้องแล็บทางการแพทย์ได้อย่างไร

Efficient resource allocation

ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการวิเคราะห์ข้อมูลในห้องแล็บทางการแพทย์คือการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลของปริมาณการทดสอบ ระยะเวลาการรอคอยผลการทดสอบ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสรรบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องแล็บได้ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาการรอคอย และเพิ่มประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการได้

ตัวอย่างเช่น การนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยระบุว่าเมื่อใดที่มีความต้องการการทดสอบบางประเภทสูงขึ้นพร้อมไปกับการจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกัน ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หรือเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ให้พร้อมกับการทดสอบเหล่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยจัดตารางเวรของเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมได้โดยพิจารณาจากปริมาณการทดสอบและระยะเวลาการรอคอยผลการทดสอบ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและช่วยให้การประกันระยะเวลาการรอคอยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในช่วงเวลาที่มีการทดสอบสูงสุดได้

Quality control

การวิเคราะห์ข้อมูลยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมคุณภาพของห้องแล็บทางการแพทย์ โดยการตรวจสอบความถูกต้องและแม่นยำของผลการทดสอบ ห้องแล็บทางการแพทย์นั้นอาศัยความถูกต้องและแม่นยำของผลการทดสอบเพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วย ด้วยการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลมาติดตามผลการทดสอบ เราสามารถระบุประเด็นที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาจริง ๆ ได้

ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ข้อมูลการควบคุมคุณภาพของผลการทดสอบช่วยให้ห้องแล็บสามารถบ่งชี้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับกระบวนการของการทดสอบหรืออุปกรณ์ได้ การจัดการกับปัญหาเหล่านี้แต่เนิ่น ๆ ช่วยให้ห้องแล็บหลีกเลี่ยงการรายงานผลการทดสอบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น การดูแลผู้ป่วยที่ล่าช้า หรือการวินิจฉัยที่ผิดพลาด

Predictive maintenance

การวิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้การบำรุงรักษาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องแล็บเป็นแบบคาดการณ์ได้ ด้วยการวิเคราะห์รูปแบบในการใช้งานและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อใดที่อุปกรณ์จะต้องได้รับการบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนใหม่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดเวลาที่เครื่องมือหยุดทำงานและช่วยให้แน่ใจว่าอุปกรณ์จะทำงานเป็นไปอย่างปกติได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรายงานผลการทดสอบที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงความล่าช้าในการดูแลผู้ป่วย

ตัวอย่างเช่น การติดตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ เช่น เวลาที่อุปกรณ์ทำงาน อัตราการใช้งาน และประวัติการบำรุงรักษา ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เราสามารถมองเห็นรูปแบบที่อาจบ่งบอกได้ว่าอุปกรณ์มีแนวโน้มที่จะเสียหายหรือต้องการได้รับการบำรุงรักษาเมื่อใด ซึ่งจะช่วยให้ห้องแล็บสามารถดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องมือแบบเชิงรุกได้ โดยไม่ต้องรอให้อุปกรณ์เสียหายในระหว่างการทำงานและเป็นการลดเวลาที่เครื่องมือจะหยุดทำงานให้เหลือน้อยที่สุด

Inventory management

การวิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้ห้องแล็บสามารถจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือช่วยลดโอกาสในการสต๊อกของหรือของล้นสต๊อกได้ ห้องแล็บสามารถกำหนดระดับสินค้าคงคลังให้เหมาะสมกับการทดสอบประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดของเสียที่เป็นต้นทุนของการดำเนินงาน

ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์รูปแบบการใช้งานน้ำยาและวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการทดสอบ ช่วยให้ห้องแล็บสามารถกำหนดระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสมให้ตรงกับจำนวนการใช้งานของการทดสอบ ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดและหลีกเลี่ยงสินค้าค้างสต๊อกได้

Benchmarking

ห้องแล็บทางการแพทย์ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานกับองค์กรอื่น ๆ ที่ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทดสอบแบบเดียวกัน ทำให้มั่นใจได้ว่าห้องแล็บนั้นให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพที่ตรงตามมาตรฐานหรือสูงกว่า

ตัวอย่างเช่น การติดตามตัวชี้วัด เช่น ระยะเวลาการรอคอยผลการทดสอบ อัตราการเกิดความผิดพลาด และปริมาณการทดสอบต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้ห้องแล็บสามารถระบุส่วนที่ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพต่อไปได้

• • •

จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์ข้อมูลมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและช่วยควบคุมคุณภาพในห้องแล็บทางการแพทย์ได้หลากหลายมิติ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีตำแหน่งนักวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะสำหรับห้องแล็บทางการแพทย์ เนื่องจากนักวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกระบวนการทำงานภายในห้องแล็บซึ่งยังถือเป็นส่วนงานที่เฉพาะทางอยู่ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์จากนักวิเคราะห์ข้อมูลจากส่วนอื่น ๆ ภายในองค์กร ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการเรียนรู้ข้ามสายงาน ทั้งยังช่วยให้ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูลและตีความจากมุมมองที่หลากหลายขึ้น

สุดท้ายผู้เขียนเชื่อว่าการวิเคราะห์ข้อมูลในห้องแล็บทางการแพทย์จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการดูแลผู้ป่วยในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นตำแหน่งนักวิเคราะห์ข้อมูลประจำห้องแล็บทางการแพทย์ในไม่ช้านี้ก็เป็นได้